สงครามในปี พ.ศ. 2376–2377 ของ อานัมสยามยุทธ

การเตรียมการ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้าตีเมืองเวียดนามดังนี้;

ฝ่ายเวียดนามยังคงมุ่งไปที่การปราบกบฎเลวันโคยที่เมืองไซ่ง่อน ยังไม่ทราบการยกทัพของฝ่ายสยาม จนกระทั่งเมื่อสยามเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศแล้วจึงทราบข่าวและเริ่มเตรียมทัพ

สยามยึดเมืองบันทายมาศและโจดก

ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และทัพของพระมหาเทพ (ป้อม) พระราชวรินทร์ (ขำ) ทั้งสามทัพยกออกจากกรุงเทพฯพร้อมกันในเดือนอ้ายปี พ.ศ. 2376 ทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เดินทัพผ่านอาณาจักรเขมรได้โดยสะดวกและปราศจากการต่อต้าน เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพถึงเมืองโพธิสัตว์พระอุไทยราชานักองค์จันกษัตริย์เขมรไม่ออกสู้รบพาเชื้อพระวงศ์และราชสำนักเขมรเสด็จหลบหนีไปยังจังหวัดหวิญล็องในเวียดนามภาคใต้ ทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เดินทางถึงเมืองบันทายมาศ ฝ่ายญวนไม่ได้เตรียมการรับศึกเจ้าพระยาพระคลังจึงสามารถยึดเมืองบันทายมาศได้อย่างรวดเร็วแล้วจึงล่องทัพเรือไปตามคลองหวิญเต๊เข้ายึดเมืองโจดกริมแม่น้ำบาสัก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดอานซางได้สำเร็จ

ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เมื่อมาถึงเมืองพนมเปญแล้ว ให้นักองค์อิ่มนักองค์ด้วงและพระยาอภัยภูเบศร (เชด) อยู่ที่เมืองพนมเปญ แต่เดิมเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯวางแผนเดินทัพบกไปทางตะวันออกผ่านเขตเมืองบาพนมตัดตรงเข้าสู่เมืองไซ่ง่อน แต่ทราบข่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) มาตั้งอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว จึงยกทัพมาสมทบกับทัพของเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองโจดก การเดินทัพเรือจากเมืองโจดกไปยังเมืองไซ่ง่อนต้องข้ามจากแม่น้ำบาสักไปยังแม่น้ำโขงเพื่อลดระยะทาง แต่คลองโดยส่วนใหญ่ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำบาสักและแม่น้ำโขงเป็นคลองขนาดเล็กทัพเรือไม่สามารถผ่านได้ มีเพียงคลองหวั่มนาว (Vàm Nao) เท่านั้นซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ทัพเรือสามารถผ่านได้ คลองหวั่มนาวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งทัพเรือญวนสามารถสกัดทัพเรือสยามในตำแหน่งนี้ได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งกรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพเรือมาในพ.ศ. 2327 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เปลี่ยนแผนใหม่โดยให้ทัพบกโดยส่วนใหญ่ลงเรือที่ได้มาจากกัมพูชาไปร่วมกับทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ล่องไปตามแม่น้ำบาสักแทนที่จะยกไปทางตะวันออกไปทางบาพนมตามแผนเดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้พระยาราชนิกูล (เสือ) และพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำทัพบกส่วนหนึ่งจำนวน 7,000 ยกไปทางบาพนมตามแผนเดิมไปยังเมืองไซ่ง่อน

ฝ่ายจักรพรรดิมิญหมั่งที่เมืองเว้เมื่อทรงทราบข่าวทัพสยามแล้ว จึงมีพระราชโองการให้เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng, 張明講) และเหงียนซวน (Nguyễn Xuân, 阮春) ยกทัพเรือมาสกัดทัพสยามที่แม่น้ำบาสัก และมอบเรือยุทธและดินประสิวให้แก่จังหวัดต่างๆในเวียดนามภายใต้เพื่อเตรียมการสู้รบกับฝ่ายสยามได้แก่ จังหวัดอานซาง จังหวัดห่าเตียน จังหวัดหวิญล็อง และจังหวัดดิ่ญเตื่อง

ยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว

แผนที่คลองหวั่มนาว (Vàm Nao) และคลององเจือง (Ông Chướng)

ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2377 ทัพเรือสยามซึ่งนำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกออกจากเมืองโจดกลงใต้ไปตามแม่น้ำบาสัก โดยให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) นำทัพเรือส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน ทัพเรือสยามพบกับทัพบกญวนเมื่อเดือนสาม ที่ปากทางเข้าคลองหวั่มนาวจากแม่น้ำบาสักทางทิศใต้ (ฝ่ายญวนเรียกคลองหวั่มนาวว่า คลองถ่วนกั๋ง Thuận Cảng) ทัพเรือญวนนำโดย"องทำตาย"และ"องจันเบีย" ด่ายนามถึกหลูกกล่าวว่าแม่ทัพฝ่ายญวนในครั้งนี้คือฝั่มฮิ้วเติม (Phạm Hữu Tâm, 范有心) ทัพสยามเข้าโจมตียิงปืนใส่ทัพบกญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ทัพบกสยามขึ้นบกโจมตีทัพญวน ทำให้ทัพญวนต้องล่าถอยไปยังปากคลองหวั่งนาวฝั่งเหนือทางออกแม่น้ำโขง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้กองกำลังส่วนหนึ่งไปป้องกันคลององเจือง (Ông Chướng) ไว้เพื่อไม่ให้ทัพเรือญวนอ้อมวนมาตีด้านหลังดังที่เกิดขึ้นเมื่อกรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพมา

ในระหว่างการรบที่คลองหวั่มนาว มีนายกองจำนวนหนึ่งหลบหนีไปแอบอยู่ท้ายเรือรบเนื่องจากกลัวศัตรู ซึ่งหนึ่งในนี้มีเชื้อสายของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯอยู่ด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มีคำสั่งให้นำตัวนายกองเหล่านั้นมาตัดศีรษะประหารชีวิต

หลังจากที่ฝ่ายญวนล่าถอยไปตั้งที่ฝั่งทางออกแม่น้ำโขงแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงวางแผนโจมตีค่ายญวนทั้งทางบกและทางน้ำ อีกห้าวันต่อมาเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯยกทัพพร้อมเจ้าพระยาพระคลังฯยกทัพเรือเข้าโจมตีค่ายญวนที่ปากคลองหวั่มนาวฝั่งเหนือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) นำกองเรือเป็นทัพหน้าเข้าโจมตีฝ่ายญวน แต่กองเรือที่ตามหลังพระยาอภัยโนฤทธิ์เกิดความเกรงกลัวศัตรูไม่ยอมถอนสมอขึ้น[1]เพื่อแล่นเรือไปสู้กับญวน พระยาอภัยโนฤทธิ์เห็นว่าไม่มีกองเรือตามมาจึงถอยกลับ แม้ว่าเจ้าพระยาพระคลังจะลงเรือป่าวประกาศให้ทัพเรือถอนสมอขึ้นไปรบ แต่แม่ทัพนายกองเรือทั้งหลายอาทิเช่นเจ้าพระยาพลเทพ พระยาราชวังสัน ฯลฯ กลับไม่ยอมถอนสมอเรือ ฝ่ายเวียดนามเมื่อเห็นว่าทัพเรือสยามไม่เข้ามาสู้จึงถ่ายโอนกำลังให้ทัพบกไปสู้กับเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ประกอบกับที่ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าทัพเสริมของญวนนำโดยต๊งเฟื้อกเลือง (Tống Phước Lương, 宋福樑) มาถึงในเวลานี้พอดี ทำให้ทัพสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเหลือเกินกำลังสู้รบจำต้องล่าถอย เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเห็นว่านายกองฝ่ายสยามมีความขลาดต้องนำตัวไปประหารชีวิต เจ้าพระยาพระคลังฯแย้งว่าแม่ทัพนายกองเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขุนนางผู้ใหญ่พระยาพานทอง[1]ประหารไม่ได้ หลังจากการสู้รบสองวันเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงถอยทัพสยามกลับไปที่เมืองโจดก โดยให้ทัพบกค่อยๆลงเรือเล็กกลับไปเมืองโจดกโดยมีทัพเรือคอยหนุนป้องกัน

การล่าถอยของสยาม การรุกของญวน และการลุกฮือของกัมพูชา

ทัพสยามล่าถอยไปตั้งมั่นที่เมืองโจดก โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ลำเลียงทัพเรือกลับไปยังเมืองบันทายมาศ ฝ่ายญวนยกทัพเรือตามแม่น้ำบาสักมาโจมตีเมืองโจดก เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ยิงปืนใส่ทัพญวนที่ขึ้นบกมาทำให้ทหารญวนล้มตายที่ริมตลิ่งจำนวนมากและทัพเรือญวนถอยกลับไป ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังซึ่งนำทัพเรือล่องผ่านคลองหวิญเต๊กลับบันทายมาศ ปรากฏว่าคลองหวิญเต๊ในเวลานั้นน้ำน้อยตื้นเขินทำให้ทัพเรือไปต่อไม่ได้ เจ้าพระยาพระคลังฯจึงให้ยกเรือขึ้นบกแล้วใช้ช้างลากไปยังเมืองกำปอต ปรากฏว่าชาวกัมพูชาในกองช้างนั้นลุกฮือขึนสังหารกองช้างฝ่ายไทยสิ้นและนำช้างไปหมด[1] หลังจากที่เจ้าพระยาพระคลังละทัพเรือไปอยู๋ที่บันทายมาศแล้วในวันแรมสิบสามค่ำทัพเรือญวนมาโจมตีเมืองโจดกอีกครั้งแม้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจะต้านทานญวนได้แต่ก็เห็นว่าไม่อาจรักษาเมืองโจดกได้ จึงถอนทัพสยามออกจากเมืองโจดกไปยังเมืองเมืองเชิงกรรชุมในกัมพูชา และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ถอยออกจากเมืองบันทายมาศไปตั้งที่จันทบุรี

ฝ่ายกัมพูชาพระยาจักรี (หลง) และพระยายมราช (หู) ขุนนางเขมรผู้อยู่ข้างญวนเห็นว่าทัพสยามกำลังล่าถอยจึงปลุกระดมชาวกัมพูชาให้เข้าโจมตีทัพสยาม ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯถูกชาวกัมพูชาเข้าโจมตีแบบกองโจร เมื่อเห็นว่าชาวกัมพูชาลุกฮือขึ้นต่อต้านสยามเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงให้นักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เชด) ทำลายกำแพงเมืองพนมเปญแล้วกวาดต้อนชาวเมืองพนมเปญกลับไปเมืองโพธิสัตว์ แต่ชาวเมืองพนมเปญลุกฮือขึ้นต่อต้าน เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มาพบกับนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่เมืองโพธิสัตว์ในวันขึ้นแปดค่ำเดือนสี่ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377) แล้วทั้งหมดจึงล่าถอยไปอยู่ที่เมืองพระตะบอง ฝ่ายแม่ทัพญวนเจืองมิญสางและเหงียนซวนเมื่อเห็นว่าฝ่ายสยามล่าถอยกลับไปแล้ว จึงนำกำลังเข้ายึดเมืองโจดกและบันทายมาศ

ฝ่ายทัพของพระยาราชนิกูล (เสือ) และพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ซึ่งยกทัพบกไปทางตะวันออกข้ามแม่น้ำโขงไปผ่านเขตบาพนมใกล้จะถึงเมืองไซ่ง่อนนั้น ถูกกองกำลังของกัมพูชาเข้าโจมตีจึงทราบว่าทัพฝ่ายสยามได้ล่าถอยไปแล้ว จึงเดินทัพกลับมาที่แม่น้ำโขงพบว่าเรือข้ามแม่น้ำสูญหายไปหมด พระยาพิชัยสงคราม (เพชร) จึงต่อแพเป็นสะพานขึ้นข้ามแม่น้ำโขงทำให้ทัพของพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาสามารถข้ามแม่น้ำโขงกลับมาได้ พระยานครสวรรค์มีความขัดแย้ง[1]กับพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาจึงไม่ข้ามสะพานแพ ยกทัพ 1,000 คนขึ้นไปทางเหนือเลียบแม่น้ำโขงแต่ถูกกองกำลังกัมพูชาสังหารสิ้น ทัพของพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาข้างแม่น้ำโขงมาแล้วเจอกองกำลังของกัมพูชาและเวียดนามแต่สามารถเอาชนะได้และมาตั้งที่เมืองกำพงสวาย (จังหวัดกำปงธม) เจ้าพระยาบดิทรเดชาฯจึงให้พระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมากวาดต้อนชาวเมืองกำพงสวายกลับไปทางนครราชสีมา หลังจากที่ทัพสยามล่าถอยไปจนหมดแล้ว เจืองมิญสางแม่ทัพญวนจึงนำพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับขึ้นมาครองกัมพูชาและประทับที่เมืองพนมเปญอีกครั้ง

สงครามเมืองพวน

ทัพสยามที่ยกทัพไปทางเมืองลาวฝ่ายเหนือนั้น พระมหาเทพ (ป้อม) ตั้งทัพที่นครพนม พระราชวรินทร์ (ขำ) ตั้งมั่นที่หนองคาย และเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (สมบุญ) พร้อมทัพจากหัวเมืองเหนือไปตั้งอยู่ที่หลวงพระบาง ได้ทัพลาวหลวงพระบางมาสมบทอีก 2,000 คน ในเดือนสามปีพ.ศ. 2377 (มกราคม พ.ศ. 2377) พระมหาเทพยกทัพจากเมืองนครพนมเข้าตีเมืองมหาชัย เมืองพอง เมืองพลาน และเมืองชุมพร (แขวงคำม่วนในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหัวเมืองลาวที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม กวาดต้อนชาวลาวส่งไปยังเมืองนครราชสีมา ฝ่ายเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวาง หลังจากที่เจ้าน้อยเมืองพวนถูกประหารชีวิตในพ.ศ. 2372 เวียดนามเข้าปกครองอาณาจักรเชียงขวางโดยตรงกลายเป็นแคว้นเจิ๊นนิญ เมื่อทัพสยามเข้ารุกรานอาณาจักรเชียงขวางพระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงทรงแต่งตั้งเจ้าสานอดีตขุนนางเมืองพวนมาครองเมืองพวนเชียงขวางเพื่อตั้งรับศึกกับสยาม พระราชวรินทร์และพระปทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายส่งสาส์นไปเกลี้ยกล่อมเจ้าสานเมืองพวนให้เข้ามาสวามิภักดิ์ฝ่ายสยาม เจ้าสานเมืองพวนจึงแปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายสยามและส่งพันแสงมารับพระราชวรินทร์ที่ท่าข้ามช้างและนำทางให้ทัพของพระราชวรินทร์เข้าเมืองพวนในวันแรมหกค่ำเดือนสี่ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377) โจมตีสังหารทหารฝ่ายเวียดนามห้าร้อยคนหมดสิ้น

เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (สมบุญ) และเจ้ามันธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางยังไม่ทราบว่าเมืองพวนได้แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายสยามแล้ว จึงส่งทัพหัวเมืองเหนือและลาวไปจากหลวงพระบางนำโดยพระยาสวรรคโลกและเจ้าอุปฮาด (เจ้าสุกเสริม) ไปโจมตีเมืองพวน พระยาสวรรคโลกส่งสาส์นผ่านพระยาเมืองแผนขุนนางลาวเกลี้ยกล่อมให้เมืองพวกแปรพักตร์ เจ้าสานเมืองพวนจึงส่งเจ้าอุปราชเมืองพวนและเจ้าเมืองสุยมาพบกับพระยาสวรรคโลกร้องขอให้พระยาสวรรคโลกนำทัพเข้าตีทัพญวนที่เมืองสุย (Muang Soui) พระยาสวรรคโลกส่งพระยาพิชัยนำทัพ 500 นายไปสังหารทหารญวนสองร้อยคนที่เมืองสุยจนสิ้นแล้ว พระยาสวรรคโลกจึงเข้ายึดเมืองสุย และได้ทราบข่าวว่าพระราชวรินทร์ได้เข้ายึดเมืองพวนไว้แล้ว พระยาสวรรคโลกจึงส่งเจ้าอุปราชเมืองพวนให้แก่พระเจ้ายาธรรมาฯที่หลวงพระบาง เจ้าพระยาธรรมาฯส่งตัวเจ้าอุปราชเมืองพวนมายังกรุงเทพฯ

เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ส่งทัพลาวเมืองหลวงพระบางไปตีเมืองหัวพันห้าทั้งหก ชาวไทดำไทแดงหัวพันทั้งห้าหกเมื่อทราบว่าทัพสยามยกมาจึงพากับหลบหนีเข้าป่า เจ้าพระยาธรรมาฯจึงให้เพี้ยอรรคฮาดขุนนางลาวไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ชาวไทดำไทแดงทั้งหลายของเมืองหัวพันฯเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม บรรดาเจ้าเมืองหัวพันฯสัญญาว่าจะเข้ามาอยู่ในอำนาจของสยามเพี้ยอรรคฮาตจึงยกทัพกลับ ในขณะนั้นเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์เฝ้ารอเจ้าเมืองหัวพันฯทั้งหลายมาสวามิภักดิ์ก็ไม่มา จนเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ล้มป่วยต้องกลับเข้ากรุงเทพฯ